เทคโนโลยี ใช้ไม่ถูก ละเมิดสิทธิ สร้างปมในใจ
#PDPDCase | จากไวรัลฟิลเตอร์ "ผีหลอก" สู่การสร้างปมในใจ ที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก โดยไม่รู้ตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมากมายได้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก หนึ่งในนั้นคือ เทคโนโลยีในโลกออนไลน์ ที่ปัจจุบันถูกใช้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการสื่อสาร การส่งต่อความรู้ และความบันเทิง เช่นบรรดาแพลตฟอร์ม Facebook, Instragram, Tiktok รวมไปถึง Youtube ที่มีผู้รับชมทุกเพศทุกวัย สามารถเลือกใช้เลือกดูคอนเทนต์ได้ตามความสนใจ…แต่รู้หรือไม่ หากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ โดยนอกจากจะส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน สร้างปมในใจให้ผู้ถูกกระทำ ยังอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิของเด็กด้วย
เตือนผู้ปกครอง เล่นฟิลเตอร์ “ผีหลอก” อาจสร้างปมในใจเด็ก เป็นข่าวที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์สื่อหลายแขนงตั้งแต่วานนี้ (16 ส.ค.) หลังเกิดไวรัล ฟิลเตอร์ “ผีหลอกเด็ก” ในแพลตฟอร์ม Tiktok และมีเหตุการณ์ที่ผู้ปกครองได้นำมาใช้กับเด็ก โดยเปิดหน้าจอโทรศัพท์ให้เด็กดู จากนั้นทำทีวิ่งหนีออกจากห้องพร้อมกับล็อกห้อง ปล่อยให้เด็กอยู่ในห้องลำพัง ทำให้เด็กตกใจ ร้องไห้ และร้องขอความช่วยเหลือ
ซึ่งล่าสุด นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า โดยปกติเด็กจะกลัวความมืด ที่แคบ สัตว์ร้าย กลัวผี หรือ สัตว์ประหลาด การที่คนใกล้ชิดขู่ให้กลัว ให้เด็กต้องเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงลำพัง โดยที่ไม่ได้การปลอบใจ หรือช่วยประคับประคองจิตใจเด็ก จะสร้างผลกระทบต่อเด็กอย่างมาก นำไปสู่ภาวะ The fight or flight คือ การสู้ หรือ ตื่นกลัว บางรายอาจเกิดภาวะป่วยทางจิตใจ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียด หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) รู้สึกสิ้นหวัง (Helplessness) เมื่อโตขึ้นไปในอนาคตอาจกลายเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ลบ และมีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้
นอกจากนี้ ยังมีกล่าวถึง ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของเด็ก ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยข้อมูลจากการเสวนาเรื่อง “การคุ้มครองเด็กในยุคดิจิทัล” โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อต้นปี 2564 ได้เปิดเผยว่า ในยุคดิจิทัลพบปัญหาเด็กถูกละเมิดบนโลกไซเบอร์ถึงปีละเป็นล้านเคส หนึ่งในนั้นคือการถ่ายภาพเด็กอย่างไม่เหมาะสม ถือเป็นการละเมิดสิทธิที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อจิตใจเด็กในระยะยาว เนื่องจากการถ่ายภาพ หรือ คลิป ซึ่งถือเป็น Digital Footprint จะอยู่ในโลกออนไลน์ไปอีกนาน
ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก แห่งสหประชาชาติ ระบุไว้ว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับความเป็นส่วนตัว กฎหมายต้องให้ความคุ้มครองเด็กจากการถูกละเมิดชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว หรือการดูหมิ่น เด็กมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์ทุกรูปแบบ แม้จะไม่มีกล่าวไว้อย่างเจาะจงในอนุสัญญาฯ นี้”
ขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ระบุว่า “มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ”
และหากว่ากันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA จะเห็นว่า แม้ในมาตรา 4(1) จะระบุว่า พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช้บังคับแก่ การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้น แต่หากภาพถ่ายเด็ก ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล สร้างความเดือดร้อน ความเข้าใจผิด หรือพาดพิงผู้อยู่ในภาพ หรือผู้อื่น ก็ยังมีกฎหมายอื่นคาบเกี่ยวอยู่ และอาจถูกฟ้องร้องได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น เมื่อ 2 ปีก่อน เว็บไซต์สื่อต่างประเทศอย่าง BBC เคยเผยแพร่ข่าว กรณียายถูกสั่งปรับฐานละเมิด GDPR (GDPR : General Data Protection Regulation คือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรป) เพราะโพสต์รูปหลานลงโซเชียลมีเดีย โดยพ่อแม่ไม่ยินยอม ซึ่งท้ายที่สุด ศาลประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ตัดสินให้ยายมีความผิดฐานละเมิด GDPR โดยระบุว่า แม้ GDPR จะไม่ครอบคลุมในส่วนของการใช้ข้อมูลเพื่อจุดประสงค์ส่วนตัวหรือใช้งานภายในครอบครัว แต่การนำรูปภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ออกสู่อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียก็อาจทำให้บุคคลที่สามเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ ในเคสนี้ผู้ปกครองของเด็กได้ขอให้ยายลบรูปออกก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผล จึงตัดสินใจฟ้องศาล และศาลได้ตัดสินความผิดและสั่งปรับเงินทุกวันจนกว่าจะลบรูปออก
ที่มา : Thaipbs, มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ, BBC
#PDPA #GDPR #technology #Tiktok #ฟิลเตอร์ผีหลอก #เด็ก #PTSD #Privacy #SecurityPitch