ทิ้งท้าย ความน่าสนใจในงาน Thailand Smart City Expo 2024
งาน Thailand Smart City Expo 2024 นับเป็นอีกงานที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน ด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีในการจัดการเมือง การให้บริการประชาชนอย่างชาญฉลาด และการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่าในปีนี้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสุดล้ำที่ครอบคลุม 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ดังนี้
- SMART Telecom กลุ่มนวัตกรรมการสื่อสาร
- SMART Energy กลุ่มพลังงานอัจฉริยะ
- SMART Living กลุ่มเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อที่พักอาศัย
- SMART Industry & Retail กลุ่มอุตสาหกรรมและร้านค้าปลีก
- SMART Mobility กลุ่มเทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะและ EV
- SMART Environment กลุ่มเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
- SMART Healthcare กลุ่มนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์
สำหรับในงานมีการจัดแสดงตัวอย่าง การนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้เพื่อพัฒนาเมืองไปสู่ Smart City ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงระดับนานาชาติ โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากที่สุด หนีไม่พ้น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีบริหารจัดการที่มีประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึง IoT (Internet of Things) Big Data และ Cloud เช่น
การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาเสริมศักยภาพของอุปกรณ์ IT ไม่ว่าจะเป็น กล้องวงจรปิดที่มีเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าด้วย AI (AI Face Recognition) รวมไปถึงระบบอัตโนมัติที่นำไปใช้กับหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่โครงการที่น่าสนใจจากประเทศจีน อย่าง Service of Zhejiang, Serve the World ที่จัดแสดงตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการบริการ และอุตสาหกรรม จากมณฑลเจ้อเจียง เช่น แพลตฟอร์ม AI Learning Management System และแพลตฟอร์ม Learning Experience เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขององค์กรด้วยเทคโนโลยี AI, เทคโนโลยีอวกาศสำหรับการสื่อสารดาวเทียม และการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีนและทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีด้าน Public Safety เน้นการแก้ปัญหาด้านภัยพิบัติ เช่น แอปพลิเคชันตรวจวัดควบคุมระดับน้ำ หรือแจ้งเตือนภัยจากอุทกภัยในรูปแบบต่างๆ หรือแม้กระทั่ง แพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเมืองอัจฉริยะเชิงพื้นที่พัฒนา บนเทคโนโลยี GIS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เรามองเห็นข้อมูลเชิงลึกและบริหารจัดการเมืองในทุกมิติอย่างชาญฉลาด ทันสมัย และยั่งยืน มีข้อมูลแสดงผลแบบ 3 มิติ รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Digital Twins โครงสร้างระบบสาธารณูปโภค และระบบบริหารจัดการภายในของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
และอีกความน่าสนใจคือ การหยิบประเด็นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม, ESG และพลังงานสะอาด เข้ามาเชื่อมโยงกับโซลูชันในแต่ละภาคอุตสาหกรรม
ทิศทางเทรนด์ Smart City ทั่วโลก
สำหรับเทรนด์ Smart City ในปีหน้า ให้ความสนใจกับ 10 เทคโนโลยี ดังนี้
1. Smart Mobility : การขนส่งที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เช่น การจัดการจราจรอัจฉริยะ ยานพาหนะไฟฟ้า รถยนต์อัตโนมัติ และการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ
- สหรัฐอเมริกา มีแท็กซี่อัตโนมัติไร้คนขับให้บริการในรัฐแคลิฟอเนียร์ และหัวเมืองใหญ่ต่าง ๆ
- สิงคโปร์เป็นผู้นำในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอัจฉริยะ Smart Transportation พร้อมเปิดใช้งานภายในปี 2030 มีระบบการทำงานหลัก ๆ 3 อย่างด้วยกัน คือ
- Intelligent Sensors and Equipment ประกอบด้วย ระบบกล้องวงจรปิด, ป้ายสัญญาณจราจร, ป้ายที่จอดรถ, ระบบบริหารจัดการทางด่วน หรือระบบตรวจสอบสภาพการจราจร
- Integrated Traffic Control & Monitoring ศูนย์ควบคุมและติดตามการจราจรทั้งประเทศ โดยผสานรวมเทคโนโลยีทั้งหมดให้สามารถนำข้อมูลมาผสานรวมกันได้ภายในระบบเดียว และนำไปใช้ต่อยอดในการจัดการปัญหาจราจร, จัดการอุบัติเหตุ, การวิเคราะห์แนวโน้มต่าง ๆ และการบริหารจัดการอุปกรณ์จราจรทั้งหมด
- Optimizing Traffic Operations นำข้อมูลทั้งหมดที่มีเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงการจราจรภายในประเทศ
2. พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) หมายถึง ผู้ที่มีส่วนร่วมและโต้ตอบกับระบบและบริการดิจิทัลที่เมืองจัดให้ เช่น แพลตฟอร์มการบริหารจัดการออนไลน์ บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล และระบบยืนยันตัวตนออนไลน์ ซึ่งเน้นความครอบคลุม ความปลอดภัย และความรู้ด้านดิจิทัล เช่น
- ประเทศเอสโตเนีย มีระบบ e-Residency of Estonia เป็นโปรแกรมที่เปิดตัว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2014 โดยประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐออนไลน์ได้เกือบทุกประเภท ทั้งการจดทะเบียนธุรกิจ การลงคะแนนเสียง การทำธุรกรรมทางการเงิน และการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์อย่างปลอดภัย
3. ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety & Security) การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน เช่น ระบบเฝ้าระวัง การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อป้องกันและตอบสนองต่อภัยคุกคามอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กรมตำรวจนิวยอร์ก ( NYPD) ใช้ระบบเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเพื่อสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยของประชาชน มีการติดตั้งกล้อง CCTV และการใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลในการตรวจจับกิจกรรมผิดปกติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้รวดเร็ว
4. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) : การรวมแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลมมีการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ประหยัดพลังงาน และสมาร์ทกริด เพื่อจัดการการใช้และการผลิตพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยคาร์บอนและการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล เช่น
- เมืองมัลโม ประเทศสวีเดน ได้พัฒนาพื้นที่ที่เรียกว่า Western Harbour ซึ่งมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเกือบทั้งหมด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และระบบจัดการพลังงานแบบสมาร์ทกริด เป็นพื้นที่แบบอย่างการใช้พลังงานอัจฉริยะและลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ
5. การบริหารจัดการภาครัฐแบบดิจิทัล (E-governance) : การใช้เทคโนโลยีในบริการของภาครัฐ เช่น การขออนุญาต ใบอนุญาต และการชำระเงินออนไลน์ เพิ่มความโปร่งใส เข้าถึงได้ง่าย และมีประสิทธิภาพ
- เมืองดูไบ ใน UAE มีการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการให้บริการภาครัฐเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและความปลอดภัยของข้อมูล มีการจัดทำบริการ e-Government ที่ครอบคลุมทั้งระบบ ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินการกับภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
6. การวางผังเมืองสีเขียว (Green Urban Planning) : มุ่งเน้นการออกแบบเมืองที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่สีเขียว สถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน และตัวเลือกการเดินทางคาร์บอนต่ำ เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอยู่อาศัยที่ดี
- กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีการวางผังเมืองที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเลนจักรยาน ซึ่งการวางผังเมืองนีhช่วยลดการใช้พลังงาน ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือเป็นเมืองปลอดคาร์บอน (carbon-neutral) ในอนาคต
7. การจัดการขยะขั้นสูง (Advanced Waste Management) : ใช้ถังขยะอัจฉริยะ การรีไซเคิล และการแปลงขยะเป็นพลังงาน เพื่อลดขยะและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมการรีไซเคิลและการกำจัดขยะที่ยั่งยืน
- กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ใช้ระบบการจัดการขยะอัจฉริยะ ใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจสอบปริมาณขยะในถังขยะ และมีการจัดเก็บขยะตามความต้องการ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะ
8. อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) : อาคารที่มีระบบบูรณาการ เช่น IoT เพื่อเฝ้าระวังและจัดการการใช้พลังงาน ความปลอดภัย แสง และระบบ HVAC (Heating Ventilation and Air Conditioning) ระบบนี้มีไว้เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมภายใน (อุณหภูมิ, ความชื้น, air flown และ ระบบการกรองของอากาศ) เพื่ออำนวยความสบายให้กับคน ช่วยทำให้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก Thermal comfort มีลักษณะคือ อุณหภูมิจะอยู่ที่ 22-25 oC มีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 30-60%RH ซึ่งมีอัตราการระบายของอากาศที่เพียงพอต่อการหายใจ
- ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีอาคารอัจฉริยะ Pasona Urban Farm ที่รวบรวมพืชกว่า 200 สายพันธุ์ ใช้ระบบ IoT และเซนเซอร์เพื่อควบคุมการใช้พลังงาน แสงไฟ และระบบระบายอากาศ รวมไปถึง ระบบไฟ LED ฟลูออเรสเซนต์ และ HEFL เพื่อส่องไฟให้สว่าง มีระบบบริหารจัดการน้ำอัตโนมัติสำหรับดูแลรักษาพันธุ์พืชภายในอาคาร
9. การจัดการน้ำขั้นสูง (Advanced Water Management) : ใช้เซนเซอร์ IoT, การติดตามแบบเรียลไทม์ และการวิเคราะห์ข้อมูลในการจัดการทรัพยากรน้ำ ลดการสูญเสียน้ำ ป้องกันการรั่วไหล และรักษาคุณภาพน้ำให้ดี
- เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน มีระบบ Smart Water Network ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายน้ำและรับประกันคุณภาพน้ำ ดังนี้
- Automated Meter Reading ใช้ระบบการอ่านจากระยะไกล เพื่อรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำแบบเรียลไทม์
- Leak Detection Algorithms ช่วยตรวจสอบแรงดันและอัตราการไหล เพื่อระบุการรั่วไหลในระยะเริ่มต้น ช่วยลดการสูญเสีย
- Continuous Water Quality Monitoring เพื่อรับรองว่าน้ำที่จ่ายเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศ
10. การเกษตรอัจฉริยะ (Intelligent Farming) : มีนวัตกรรมด้าน IoT, Robotic และ Data Analytic สำหรับจัดการฟาร์มและเพิ่มประสิทธิภาพ ปัจจุบันเกษตรกรมักใช้อุปกรณ์ตรวจจับแบบไร้สาย (Wireless sensing) เพื่อตรวจสอบสภาพดินและสุขภาพของปศุสัตว์ จึงช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้ ตัวอย่างเช่น
- ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เช่น เซนเซอร์และระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศและดิน ช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิต นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบเรือนกระจกอัจฉริยะที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นโดยอัตโนมัติ
มอง Smart City ไทย ไปถึงไหนแล้ว
ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตื่นตัว มองหาและพัฒนาเทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อผลักดัน Smart City ประเทศไทยเองก็มีการผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล รวมถึงนโยบาย Cloud First Policy เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Data Hub เปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ นับเป็นทิศทางที่ดี อันเห็นได้จากที่มีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มากมายเข้ามาลงทุนในประเทศ เช่น Microsoft, AWS และ Google เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) กล่าวถึงการผลักดัน Smart City 7 ด้าน คือ
- Smart Energy : การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบตรวจจับและจัดการการใช้พลังงานในอาคาร ระบบพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และการจัดเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ ทำให้เมืองสามารถลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการใช้งานพลังงานอย่างยั่งยืนมากขึ้น
- Smart Mobility : ระบบขนส่งอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทาง เช่น รถไฟฟ้า, รถประจำทางที่เชื่อมต่อกับระบบ IoT และการใช้รถร่วมผ่านแอปพลิเคชัน ช่วยลดการใช้พลังงาน เพิ่มความสะดวกสบาย และลดมลพิษ
- Smart Governance : การบริหารเมืองโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น e-Government และการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้การให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างโปร่งใสและรวดเร็ว รวมถึงเพิ่มความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชน
- Smart Living : มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต เช่น ระบบสุขภาพและการแพทย์ทางไกล การติดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ สร้างความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีแก่ประชาชน
- Smart People : การพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของคนในเมือง เช่น การศึกษาออนไลน์และการเรียนรู้ตลอดชีวิต การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความรู้ และการพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อให้คนในเมืองมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล
- Smart Environment : การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบการจัดการของเสียแบบอัจฉริยะ การจัดการน้ำ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบทางลบต่อธรรมชาติและเพิ่มความยั่งยืนของทรัพยากร
- Smart Economy : การส่งเสริมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น การส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ การค้าออนไลน์ และการใช้ Big Data และ AI ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความยืดหยุ่น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Smart City ได้ที่ Depa Thailand
หากจะเทียบถึงความแตกต่างระหว่างการพัฒนา Smart City ของประเทศไทยและต่างประเทศ คงตอบได้ว่าในฝั่งของประเทศไทยถือว่าอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นพัฒนาอย่างจริงจัง โดยมีต้นแบบจากต่างประเทศ ทั้งที่หากดูจากในงาน Thailand Smart City Expo 2024 จะเห็นได้ว่า นอกจากการนำเข้าโซลูชันแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทย หรือหน่วยงานหลายแห่ง ที่มุ่งเป้าไปในเรื่องของการพัฒนาโซลูชันโดยคนไทยเอง ไม่ว่าจะเป็น
- วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 หรือ Thainamic ระบบภายในตัวรถมีการส่งข้อมูลสื่อสารผ่านระบบ Cloud สามารถทำความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยทำระยะทางได้ถึง 1,200 กิโลเมตร/ชาร์จ จากพลังงานไฟฟ้าที่มาจากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว
- ICE Smart พัฒนา Smart Flood Alarm System หรือระบบแจ้งเตือนระดับน้ำอัจฉริยะ
- MyCity ช่องทางในการสื่อสารสองทางระหว่างเมืองกับประชาชน ที่พัฒนาต่อยอดจาก Social Platform ที่ประชาชนมีความนิยมใช้มากที่สุด ซึ่งจะสร้างการเข้าถึงของประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- DTC Smart Pole อีกหนึ่งเทคโนโลยีและนวัฒกรรม ระบบเสาอัจฉริยะที่รวบรวมเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย มาพร้อมกับมัลติฟังก์ชัน ผสมผสานกับเสาไฟส่องสว่าง ไม่ว่าจะเป็นกล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัยในชุมชน ระบบตรวจสอบสภาพอากาศ หรือจอประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ระบบ Smart pole จะช่วยบันทึก จัดเก็บ และส่งต่อข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
- iTrend แพลตฟอร์มบริหารจัดการระบบ IoT และการบริหารจัดการข้อมูลภายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีการนำข้อมูลต่าง ๆ มาเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต
ที่มา : StarUs Insights, Visits Sweden, NYC Gov, Energy Digital, BBC
สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ “OneFence”
Tel. : 061-462-6414, 02-103-6462
Line : @securitypitch
Email : [email protected]
บทความที่น่าสนใจ