กล้องหน้ารถ ถ่ายติดคน ผิด PDPA ไหม
#PDPAKnowledge | กล้องหน้ารถ ถ่ายติดคน ผิด PDPA ไหม?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กล้องหน้ารถ กลายเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่รถเกือบทุกคันไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ มักมีติดไว้ เพื่อบันทึกเส้นทางการเดินทาง หรือเพื่อเก็บหลักฐานในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยให้ง่ายต่อการเคลมประกัน หรือเป็นหลักฐานสำหรับการดำเนินคดี แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้งานที่ยากจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถ่ายติดบุคคลอื่น อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย PDPA ได้
แม้การติดกล้องหน้ารถ โดยทั่วไปแล้วประชาชนสามารถติดตั้งได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งกับหน่วยงานใด ๆ และไม่จำเป็นต้องติดประกาศหรือแจ้งว่ามีการติดกล้องหน้ารถ ต่างจากการติดกล้องวงจรปิดภายใน หรือภายนอกอาคาร ที่จะต้องมีการติดป้ายประกาศเพื่อให้ผู้เข้าใช้สถานที่ได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการบันทึกภาพ อย่างไรก็ตามการจะนำภาพจากกล้องหน้ารถไปใช้ หรือเผยแพร่ก็จะต้องมีระมัดระวัง เพราะหากมีการนำภาพบุคคลที่บันทึกได้ไปใช้สร้างความเสียหาย หรือสร้างความอับอายให้แก่บุคคลในภาพ หรือนำไปใช้เพื่อการค้า และหารายได้ ก็อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีความผิดทางกฎหมายได้เช่นเดียวกัน
นำคลิปไปแชร์บนโซเชียลในกรณีพบเห็นการขับรถที่ไม่สุภาพ หรือผิดกฎจราจร ผิด PDPA ไหม?
ในกรณีดังกล่าว หากเจ้าของกล้องหน้ารถนำคลิปวิดีโอที่บันทึกไปแชร์บนโซเชียลมีเดีย หรือส่งให้ผู้อื่นเผยแพร่ ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม หากไม่ได้ถ่ายติดคนภายในรถ หรือมีการเบลอภาพคนในรถจนไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใครก็สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย PDPA แต่หากเป็นความจงใจถ่ายให้ติดคนในรถ หรือคนขับโดยไม่มีการเบลอภาพ และไม่ได้รับอนุญาต แล้วนำไปแชร์ในโซเชียล เพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือความอับอายก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายทั้ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ กฎหมาย PDPA ได้
โดยสาเหตุที่จะมีความผิดเข้าข่ายกฎหมายทั้ง 2 ฉบับก็เป็นเพราะว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีข้อกฎหมายที่ระบุถึงความผิดที่แตกต่างกัน ซึ่งในกรณีการนำคลิปวิดีโอที่จงใจถ่ายติดคนในรถ หรือคนขับแล้วนำไปเผยแพร่โดยไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และไม่ได้รับความยินยอม จะมีความผิดตามมาตรา 83 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เสี่ยงถูกปรับสูงสุดถึง 3 ล้านบาท และการที่นำคลิปวิดีโอที่ถ่ายติดคนไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอม และทำให้เกิดความอับอาย หรือความเสียหาย อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
ได้ทราบแบบนี้แล้วผู้ที่ใช้รถใช้ถนนก็อาจต้องระวังในเรื่องการนำภาพจากกล้องหน้ารถไปใช้ เพราะแม้ว่ากล้องหน้ารถจะเป็นสิ่งที่ช่วยเก็บหลักฐานได้ แต่การที่ กล้องหน้ารถ ถ่ายติดคน แล้วนำคลิปเหล่านั้นไปใช้เพื่อสร้างคอนเทนต์ในโซเชียล โดยปรากฏภาพบุคคลอื่น สิ่งที่จะตามมาอาจไม่คุ้มกับยอดแชร์ หรือยอดไลก์ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือควรลบภาพกล้องหน้ารถออกอย่างสม่ำเสมอ หรือหากมีเหตุเกิดขึ้นและต้องนำภาพในกล้องไปใช้เป็นหลักฐานก็ควรนำไปใช้เท่าที่จำเป็น และตรงตามจุดประสงค์จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง
ติดตามข้อมูลข่าวสาร และเกร็ดความรู้ดี ๆ ด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวได้ที่
โทร : 062-263-9368
Facebook : Security Pitch
Line OA : @securitypitch
Email : [email protected]