เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นภัยต่ออุตสาหกรรมอวกาศ
ใครจะคิดว่า ‘อวกาศ’ พื้นที่ว่างเปล่าที่เต็มไปด้วยหมู่ดาว จะกลายเป็นพื้นที่การแข่งขัน เมื่อมนุษย์ต้องการข้ามขีดจำกัดของตัวเองด้วยเทคโนโลยี เพื่อแสดงถึงการเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน หรือแม้แต่อินเดีย ขณะที่ท่ามกลางการแข่งขัน อุตสาหกรรมอวกาศยังเผชิญกับภัยคุกคามจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นด้วย
ภัยไซเบอร์แทรกซึมไปในอวกาศ
เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อถึงกัน การจะควบคุมทุกอย่าง ตั้งแต่ระบบนำทางไปจนถึงการควบคุมขีปนาวุธจึงไม่ใช่เรื่องยากในปัจจุบัน หากแต่ยานอวกาศ ดาวเทียม หรืออวกาศ ล้วนเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนและอันตรายมากขึ้น ลองนึกภาพดูว่า หากระบบเหล่านี้ถูกควบคุมโดยอาชญากรทางไซเบอร์จะเกิดอะไรขึ้น
William Russell, Director Of Contracting and National Security Acquisitions ที่ U.S. Government Accountability Office ให้ความเห็นว่า เมื่อเราปล่อยกระสวยอวกาศขึ้นไปแล้ว การอัปเดตซอฟต์แวร์ หรือ ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ย่อมเป็นเรื่องยาก ซึ่งหากระบบถูกเจาะก็อาจจะสูญเสียข้อมูลการปฏิบัติภารกิจไปจนถึงการควบคุมยานอวกาศและดาวเทียม
ขณะที่ Wayne Lonstein ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ VFT Solutions และผู้เขียนร่วมของ Cyber-Human Systems, Space Technologies, and Threats ให้ความเห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานของระบบบนอวกาศ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ยานอวกาศ, การควบคุมจากภาคพื้นดิน และเครือข่ายการสื่อสาร หากส่วนใดส่วนหนึ่งล่ม ส่วนอื่น ๆ ก็จะล่มต่อกันกลายเป็นลูกโซ่ และภัยคุกคามไซเบอร์ที่กระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานของระบบบนโลกก็อาจกลายเป็นภัยต่อฝั่งอวกาศได้
แม้ข่าวการโจมตีไซเบอร์บนอวกาศไม่ได้ถูกพูดถึงบ่อยนัก แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ องค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ถูกโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้ง ในปี 2022 ระบบดาวเทียม Starlink ของ SpaceX ถูกโจมตี ซึ่งอีลอน มัสก์ ระบุว่า เป็นฝีมือของรัสเซียหลังจากที่ดาวเทียมถูกส่งมอบให้ยูเครน
นอกจากนี้ในเดือนสิงหาคม 2023 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกคำเตือนว่า จารชนจากรัสเซียและจีนกำลัง พยายามขโมยเทคโนโลยีและข้อมูลที่สำคัญจากบริษัทอวกาศของสหรัฐฯ เช่น SpaceX และ Blue Origin โดยจีนถูกพัวพันกับปฏิบัติการจารกรรมทางไซเบอร์หลายครั้ง ย้อนหลังไปกว่า 10 ปี เช่น การแฮ็กในปี 2014 ที่ทำให้ระบบตรวจอากาศขององค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ได้ผลกระทบ ส่งผลต่อการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมผ่านดาวเทียม
เทคโนโลยี AI มีความเสี่ยง
แม้ว่า AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในภารกิจสำรวจอวกาศ เช่น การประมวลผลข้อมูลและการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตามการใช้ AI ในระบบเมื่อต้องปฏิบัติภารกิจสำคัญ เช่น การกำหนดเป้าหมายสำหรับรถสำรวจดาวเคราะห์ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการโจมตีทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
- Data Poisoning : ผู้โจมตีอาจป้อนข้อมูลที่เสียหายเพื่อหลอกลวงระบบ AI
- Model Inversion : การใช้วิธีย้อนกลับเพื่อดึงข้อมูลลับออกจากระบบ AI
- Adversarial Attacks: ใช้ข้อมูลที่ออกแบบมาเพื่อทำให้ AI ตัดสินใจผิดพลาด
การโจมตีเหล่านี้อาจนำไปสู่การควบคุมระบบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น ดาวเทียม ซึ่งอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงระดับชาติ
รัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน
ด้วยเหตุนี้บริษัทเอกชนและรัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ทั้งหมดที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมีการเข้ารหัส (encryption) ระบบตรวจจับการบุกรุก (intrusion detection systems) และความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาล เช่น Cybersecurity and Infrastructure Security Agency เพื่อแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองและป้องกันภัยร่วมกัน
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีก็ได้พัฒนาเทคโยนโลยีด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับระบบในอวกาศ เช่น บริษัทอย่าง Microsoft, Amazon, Google และ Nvidia ได้ถูกเชิญเข้ามาร่วมงานกับ U.S. Space Force และกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ในอวกาศ
อย่างไรก็ตามการพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมากกว่าความปลอดภัย เพราะการพึ่งพาระบบอัตโนมัติมากเกินไป หากระบบเหล่านั้นทำงานผิดพลาดหรือเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลวที่ร้ายแรงได้
แม้เทคโนโลยีอวกาศจะดูห่างไกลจากประเทศไทยไปมากในตอนนี้ แต่คงไม่ไกลพอความฝัน ยังคงมี Startup และบริษัทเกิดใหม่อีกมากที่พร้อมจะสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศเสมอ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
ที่มา : CNBC, Japan Times
สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ “OneFence”
Tel. : 061-462-6414, 02-103-6462
Line : @securitypitch
Email : [email protected]
บทความที่น่าสนใจ