รับมืองานปลอมระบาดบนเว็บไซต์
ประกาศงานปลอมบนเว็บไซต์ และแอปฯหางานระบาดหนัก ส่งผลผู้สมัครงานหน้าใหม่จำนวนมากถูกหลอกให้สมัครตำแหน่งงานปลอม ล่อด้วยเงินเดือนสูงเกินจริง
เชื่อว่าเด็กจบใหม่ และผู้ที่กำลังว่างงานในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักหางานและสมัครงานผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันหางานยอดนิยม ขณะที่บริษัทมากมายก็มักลงประกาศงาน หรือลงประกาศหาตำแหน่งงานที่ต้องการ โดยความคาดหวังของผู้สมัครงานย่อมพิจารณาจาก ฐานเงินเดือน, รูปแบบการทำงาน, ระยะทางสถานที่ และความก้าวหน้าในอาชีพเมื่อได้บรรจุเข้าเป็นพนักงาน แน่นอนว่ารูปแบบการทำงานที่เป็นหนึ่งในตัวเลือก คือการทำงานในรูปแบบ Work From Home หรือแบบ Hybrid เพราะต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน
จากการสำรวจในต่างประเทศ โดย Beyond Identity ซึ่งสำรวจกลุ่มผู้สมัครงานจำนวน 1,000 คน ที่ใช้แอปพลิเคชันหางานยอดนิยม และหนึ่งในนั้นก็มีแอปฯ ที่น่าเชื่อถือสูงอย่าง Linkedin ซึ่งมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 830 ล้านคนทั่วโลกอยู่ด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า แอปฯ ดังกล่าวนี้แหล่ะที่มิจฉาชีพมักใช้สร้างประกาศงานปลอม
โดยผลสำรวจพบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชายถึง 32% และกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล รวมถึงผู้ที่มีความต้องการงานในรูปแบ Hybrid มีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อมากที่สุด ซึ่งข้อความบนประกาศสมัครงานปลอมนี้มีการใช้ AI Chatbot เพื่อสร้างข้อความประกาศงานปลอม ๆ
อย่างไรก็ตามจากการสอบถามกลุ่มคนจำนวน 1,000 คน ระบุว่ารูปแบบของประกาศงานปลอมส่วนใหญ่ จะมีจุดสังเกตดังนี้
- มีการสะกดคำและไวยากรณ์ผิดจำนวนมาก
- มีข้อเสนอว่าตำแหน่งให้ความมั่งคั่งสูง
- มีการขอข้อมูลทางการเงิน
- ใช้ที่อยู่อีเมลที่ไม่ใช่บริษัท
- สัญญาจ้างงานที่มีค่าตอบแทนสูงแม้ทักษะหรือความเชี่ยวชาญจะน้อย
- โปรไฟล์ไม่สมบูรณ์และคลุมเครือ
สำหรับประเทศไทยก็มีประกาศงานปลอมเช่นกัน แต่มักมาในลักษณะของโพสต์บนสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Facebook และมีการแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน เช่น ไปรษณีย์ไทยเปิดรับสมัครงานเสริมไปรษณีย์ รายได้ 543-17,000 บาท นอกจากนี้ยังมีประกาศรับสมัครคนทำงานในลักษณะงานเสริม เช่น รับคนลงเสียง หรือรับคนอ่านหนังสือเสียง เป็นต้น
ดร. Lis Carter นักอาชญาวิทยา จาก Kingston University ผู้เชี่ยวชาญด้านกลวิธีที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวง อธิบายว่า การฉ้อโกงลักษณะนี้เป็นอาชญากรรมหลายขั้นตอนที่เน้นปริมาณ ซึ่งพวกเขาจะสร้างกระบวนการคล้ายกับฝ่ายบุคคล เช่น ขอชื่อ ที่อยู่ วันเกิด ข้อมูลธนาคาร เมื่อได้ข้อมูลก็จะนำขายต่อบน dark web
แต่ที่สำคัญคือการล้วงข้อมูลทางการเงินเพื่อเข้าถึงบัญชีธนาคาร ซึ่งผู้เสียหายบางรายก็มาจากการที่มิจฉาชีพอ้างว่า “พนักงานใหม่” จำเป็นต้องชำระเงินสำหรับอุปกรณ์ หรือการอบรมก่อนเป็นพนักงาน หรือที่ร้ายแรงที่สุดคือให้เหยื่อทำงานจริงกับบริษัท แต่ธุรกิจทั้งหมดคือการฟอกเงิน
สถิติของ Federal Trade Commission (FTC) พบว่า การหลอกลวงในลักษณะนี้มีประมาณ 105,000 กรณี โดยในปี 2023 มีเหยื่อสูญเสียเงินประมาณ 450 ล้านดอลลาร์ และข้อมูลจาก FBI มีผู้เสียหายจากการโดนหลอกสมัครงานถึง 15,000 ราย และสูญเสียเงินมากกว่า 52 ล้านดอลลาร์ ด้าน LinkedIn ระบุว่า สามารถลบบัญชีปลอมได้กว่า 60 ล้านบัญชีในปี 2022 แต่ก็ยังคงเหลืออยู่อีกกว่า 196,000 บัญชี ที่ต้องลบออกหลังมีผู้ร้องเรียน
ที่มา : Beyond Identity, Axios, BBC
สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ “OneFence”
Tel. : 081-972-2500
Line : @securitypitch
Email : [email protected]
บทความที่น่าสนใจ