8 วิธีป้องกัน ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ด้วยตัวเอง

ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล

#PDPAKnowledge | 8 วิธีป้องกัน ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ด้วยตัวเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเราไปเสียแล้ว เนื่องจากคนจำนวนไม่น้อยหันมาทำธุรกรรมต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้า การสมัครบริการต่าง ๆ หรือแม้แต่การทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเงิน ด้วยเหตุนี้เองโอกาสที่จะถูกขโมยข้อมูล หรือเกิดปัญหา ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ได้ง่าย ไม่ว่าจากความประมาทเลินเล่อ หรือเพราะโดนจารกรรมข้อมูล ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล 

ดังนั้นนอกจากจะหวังพึ่งระบบการดูแลความปลอดภัยข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว เราก็ควรระมัดระวัง และตระหนักถึงการป้องกันข้อมูลส่วนตัวของเราเองด้วย วันนี้ Security Pitch จึงขอหยิบเอา 8 วิธีในการป้องกันข้อมูลส่วนตัวไม่ให้รั่วไหลมาฝาก ดังนี้

1. ตั้งรหัสผ่านให้กับอุปกรณ์

หลายคนอาจรู้สึกว่าการใส่รหัสผ่านในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้รู้สึกยุ่งยาก แต่อยากจะบอกว่าวิธีนี้เป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุดที่สามารถช่วยป้องกันการถูกขโมยข้อมูลได้ ในกรณีที่อุปกรณ์ชิ้นนั้นสูญหาย คุณก็สามารถวางใจในระดับหนึ่งว่าจะไม่มีใครใช้อุปกรณ์ของคุณเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องจดจำรหัสผ่านเพียงอย่างเดียวแล้ว เพราะมีเทคโนโลยีสแกนนิ้ว และสแกนใบหน้า ที่จะช่วยให้อุปกรณ์ของคุณปลอดภัยมากขึ้น

2. ไม่ใช้รหัสผ่านซ้ำ หรือง่ายต่อการคาดเดา

การสร้างรหัสผ่านซ้ำกันในหลาย ๆ เว็บไซต์เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไรนัก เพราะยิ่งรหัสผ่านซ้ำ โอกาสที่จะโดนแฮ็กข้อมูลก็ยิ่งเป็นไปได้ง่ายขึ้น หรือถ้ารหัสผ่านง่ายต่อการคาดเดาจนเกินไป ก็ยิ่งเหมือนเป็นของหวานสำหรับบรรดาผู้ที่ไม่หวังดีที่จะเข้าสู่ระบบเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ และมีความละเอียดอ่อนได้ ทั้งนี้ รหัสผ่านที่ควรหลีกเลี่ยง คือ

  • รหัสผ่านที่มีตัวเลข หรือตัวอักษรเรียงกัน 
  • รหัสผ่านที่เป็นวันเดือนปีเกิดของตัวเอง หรือคนใกล้ชิด เบอร์โทรศัพท์
  • รหัสผ่านที่เป็นคำศัพท์ที่คาดเดาง่าย เช่น password, admin เป็นต้น
  • รหัสที่มีชื่อของบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลที่สามารถคาดเดาได้
  • รหัสที่มีการตั้งให้ใกล้เคียงกับรหัสผ่านในเว็บไซต์อื่น ๆ 
  • รหัสผ่านที่ใช้คำศัพท์ที่คาดเดาง่าย

นอกจากนี้รหัสผ่านที่ดี ควรเป็นคำที่ไม่มีในพจนานุกรม และควรที่จะมีสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ยากต่อการคาดเดา ซึ่งถ้าหากกลัวว่าจะจำรหัสผ่านไม่ได้ก็สามารถจดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย วิธีนี้จะช่วยให้ข้อมูลส่วนตัวปลอดภัยมากขึ้น

3. เปิดใช้ระบบพิสูจน์ตัวตน 2 ขั้นตอน ป้องกัน ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล

ปัจจุบันหลายเว็บไซต์ หรือแม้แต่อีเมล ก็มีระบบการพิสูจน์ตัวตน 2 ขั้นตอน ที่สามารถช่วยป้องกันการแฮ็กได้ โดยระบบนี้จะมีการส่งข้อความ หรือรหัสผ่านให้กับผู้ใช้เพื่อยืนยันตัวตนก่อนเข้าสู่ระบบอีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้นอกจากจะช่วยป้องกันข้อมูลได้ปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้เรารู้ได้ว่ามีใครกำลังแฮ็กระบบหรือไม่ โดยเมื่อมีการเข้าสู่ระบบอย่างไม่ถูกต้องก็จะมีข้อความแจ้งเตือนมายังผู้ใช้

4. หลีกเลี่ยงการกรอกข้อมูลส่วนตัวโดยไม่จำเป็น

ในหลาย ๆ ครั้ง การเข้าใช้งานเว็บไซต์บางแห่งต้องมีการลงทะเบียน และจำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ จุดนี้เองก็อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณตกอยู่ในความเสี่ยงได้ เพราะบางเว็บไซต์อาจเป็นเว็บไซต์หลอกลวง หรือถูกแฮ็กได้ง่าย ดังนั้นหากจำเป็นต้องลงทะเบียนเข้าใช้ ควรหลีกเลี่ยงการกรอกข้อมูลสำคัญ อย่างเช่น ข้อมูลบัตรเครดิต เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขที่หนังสือเดินทาง และหากมีการเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย ก็ไม่ควรเชื่อมต่อไม่ว่าในกรณีใด ๆ 

5. หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์จากเว็บไซต์ที่ไม่คุ้นเคย

ในบางครั้งการคลิกลิงก์ก็อาจนำมาสู่ปัญหาข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลได้ เพราะมีแฮ็กเกอร์จำนวนไม่น้อยที่ฉวยโอกาสแนบลิงก์ที่มี Malware ไว้ในเว็บไซต์ที่ไม่คุ้นเคย หรือในอีเมลจากคนแปลกหน้า ซึ่งเมื่อคลิกลงไปแล้ว ก็อาจทำให้ถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ ได้ ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์จากแหล่งที่ไม่คุ้นเคยจะดีที่สุด หรือหากจำเป็นจริง ๆ ก็สามารถติดตั้ง Plug-in ของโปรแกรมป้องกันไวรัสต่าง ๆ ซึ่งสามารถช่วยสแกนได้ว่าลิงก์นั้นปลอดภัยหรือไม่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกขโมยข้อมูลได้อีกทาง

6. ลบ Cookies และประวัติการเข้าชมเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ 

Cookies และประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ เป็นตัวบันทึกเหตุการณ์ และการกระทำต่าง ๆ ของเราบนโลกออนไลน์ ซึ่งถ้าคุณต้องการความเป็นส่วนตัว และปลอดภัยจากปัญหาข้อมูลรั่วไหล ขอแนะนำให้ตั้งค่าเพื่อลบ Cookie และประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ ทุกสัปดาห์ หรือ เดือน วิธีนี้นี้จะช่วยลดจำนวนการถูกติดตามในโลกออนไลน์ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการโดนฉกฉวยข้อมูลได้

7. ลงชื่อออกจากระบบทุกครั้ง หลังเลิกใช้งาน

การลงชื่อออก หรือ Sign out ออกจากระบบในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีข้อมูลส่วนตัว เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ การออกจากระบบหลังใช้งานเว็บไซต์ สามารถป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้าถึงบัญชีของคุณ หรือแอบเอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิดได้

8. ลบบัญชี หรือข้อมูลส่วนตัวออกหากจะไม่ใช้เว็บไซต์นั้น ๆ อีกต่อไป

นอกจากการลงชื่อออกจากระบบแล้ว หากคุณไม่ประสงค์จะใช้เว็บไซต์นั้น ๆ อีกต่อไป คุณก็ควรจะลบบัญชี และข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ออกไป เพราะในอนาคตหากมีคนสามารถเข้าสู่ระบบของคุณได้ ก็อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวตกอยู่ในความเสี่ยง หรือมิจฉาชีพอาจนำบัญชีนั้นไปใช้ในทางที่ผิดได้ 

วิธีการป้องกันข้อมูลส่วนตัวที่หยิบมาแนะนำนี้ เป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้นที่เราสามารถทำได้ด้วยพเเตัวเอง ซึ่งถ้าต้องการความปลอดภัยที่มากขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการตระหนักว่าข้อมูลส่วนตัวนั้นไม่ควรส่งมอบให้ใครง่าย ๆ อีกทั้งยังควรทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลไว้ เพราะหากในวันหนึ่งคุณถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล จะได้รับมืออย่างทันท่วงที ร่วมถึงลดความเสี่ยงที่จะถูกนำข้อมูลไปสร้างความเสียหายได้

ติดตามข่าวสาร และความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ PDPA ได้ที่ OneFence.co

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของผลิตภัณฑ์

☎️ : 062-263-9368

Facebook : https://fb.me/OneFence.co

Line : https://lin.ee/gJ3lo8i

Email : [email protected]