อ่วมอีกแล้ว ! Meta ถูกปรับอีกครั้ง ละเมิดกฎ GDPR
#PDPACase | อ่วมอีกแล้ว ! Meta ถูกปรับอีกครั้ง ละเมิดกฎ GDPR !
Meta พบกับศึกหนักอีกครั้ง หลังถูกตัดสินให้มีความผิดฐานละเมิดกฎหมาย GDPR และถูกปรับสูงกว่า 275 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ดูเหมือนว่าวิกฤตของ Meta ที่เกี่ยวกับด้านการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจะยังไม่จบลงโดยง่าย เพราะล่าสุด คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลของสหภาพยุโรปได้มีการตัดสินให้บริษัท Meta ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศไอร์แลนด์ มีความผิดฐานละเมิดกฎหมาย GDPR และถูกปรับสูงถึง 275 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมเงื่อนไขให้บริษัทปรับเปลี่ยนนโยบายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
จากการสืบสวนของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลของสหภาพยุโรป ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฏหมาย GDPR หลังจากค้นพบการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลในเดือนเมษายน 2021 ล่าสุดได้มีการรายงานว่า Facebook ที่อยู่ภายใต้บริษัท Meta ได้มีการละเมิดกฎหมาย GDPR โดยการใช้หลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยค่าเริ่มต้น (data protection by design and default) จนเป็นผลให้ผู้คุกคามสามารถดูดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้จำนวนมหาศาลไปได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลของสหภาพยุโรปได้เปิดเผยว่า การตัดสินโทษในครั้งนี้เป็นการประณามที่ Meta ละเมิดกฎหมาย และกำหนดให้ Meta ต้องมีการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และต้องเสียค่าปรับทางปกครองสูงถึง 275 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยสูงกว่า 9 พันล้านบาทเลยทีเดียว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Meta ได้รับคำตัดสินเช่นนี้ เพราะหากนับย้อนไปตั้งแต่ต้นปี 2022 บริษัทในเครือของ Meta ล้วนถูกศาลสั่งปรับในฐานความผิดเกี่ยวกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลไปแล้วรวมมูลค่ากว่า 928 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก แต่ก็ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ Meta รวมไปถึงบริษัทอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งสะท้อนได้ถึงความเด็ดขาดของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลของสหภาพยุโรปที่มีมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มแข็งไม่แพ้ชาติใดในโลกก็ว่าได้ และเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจให้กับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เพิ่งจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงหวังอย่างยิ่งว่าในอนาคต เมื่อประเทศไทยมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลกันมากขึ้นแล้ว กฎหมายที่มีการบังคับใช้จะถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุด
ที่มา – bbc.com