NIST เปิดตัวโครงการ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
เพราะเป็นหนึ่งในเป้าหมายการโจมตีทางไซเบอร์จากอาชญากรไซเบอร์ทั่วโลก ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงมีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์อยู่เเสมอ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ความมั่นคงทางไซเบอร์นับเป็นเรื่องยาก ที่คนทั่วไปจะเข้าถึง ด้วยเหตุนี้ สถาบัน NIST (National Institute of Standards and Technology) ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ จึงได้ทำโครงการ Usable Cybersecurity ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Visualization and Usability Group ที่ทำหน้าที่ในการวิจัย และพัฒนาวิธีการ แนวทาง และมาตรฐานในการประเมินผลนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผู้ใช้เป็นสำคัญ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่เข้าถึงได้ ซึ่งล่าสุด NIST ได้เปลี่ยนชื่อโครงการดังกล่าวเป็น The Human-Centered Cybersecurity program ทั้งนี้ก็เพื่อขยายขอบเขตการทำงานให้กว้างขึ้น และสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายของหน่วยงาน
ทั้งนี้ ตัวแทนจาก Visualization and Usability Group ของ NIST ได้เปิดเผยผ่าน Blog ของ NIST ว่า การเปลี่ยนชื่อโครงการในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อขจัดความเข้าใจผิดที่ผู้คนมักเข้าใจว่า ทีมนักวิจัยนั้นมุ่งเน้นทำการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และกระบวนการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือทำการวิจัยเพื่อปรับปรุงการใช้งานเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันของผู้ใช้งานเท่านั้น
The Human-Centered Cybersecurity Program มีเป้าหมายในการดำเนินการ คือ สนับสนุนผู้คนให้สามารถเข้าถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้ง่ายขึ้น ด้วยการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ อันเกี่ยวของกับปัจจัยต่าง ๆ ของมนุษย์ จิตวิทยา โดยบูรณาการร่วมกับวิทยาการการเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจและปรับปรุงให้ผู้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในจุดนี้เองส่งผลดีให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดว่า การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง และหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น
ซึ่ง The Human-Centered Cybersecurity program เอง ก็ได้มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าทีมนักวิจัยได้มีการขยายขอบเขตการทำงานออกไปมากกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น งานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า อิทธิพลทางสังคมส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเยาวชนและความเข้าใจและพฤติกรรมความเป็นส่วนตัวของเยาวชนอย่างไร สิ่งนี้ยังส่งผลให้เกิดคำแนะนำว่าผู้ปกครองควรมีการพูดคุยกับบุตรหลานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยที่เกี่ยวของกับการรับรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงข้อควรพิจารณาในการติดฉลากความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับผลิตภัณฑ์ Internet of Things (IoT) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัย และลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากการใช้งานลงได้
ไม่เพียงเท่านั้น The Human-Centered Cybersecurity program ยังได้มีการขยายขอบเขตการทำงานไปยังผู้ที่ทำงานในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อสนับสนุนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือทำงานในสายงานดังกล่าว รวมไปถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ NIST Phish Scale ที่จะช่วยในการประเมินผลการรับรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และช่วยในการฝึกอบรมผู้ที่ทำงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการจำลองการฟิชชิ่ง เพื่อช่วยให้ผู้ที่ทำงานในสายงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากการเปลี่ยนชื่อโครงการเพื่อให้ตอบสนองกับขอบเขตการทำงาน ยังได้มีการอัปเดตเว็บไซต์ให้ง่ายต่อการค้นหา เพื่อให้ผู้ที่ทำงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และผู้ที่สนใจด้านนี้สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน The Human-Centered Cybersecurity program ก็ยังมีการวางแผนเพื่อเป็นกระบอกเสียง และช่วยพัฒนาขีดความสามารถให้กับผู้ที่ทำงานในสายความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้พวกเขาสามารถเอาชนะความท้าทาย และอุปสรรคต่าง ๆ ในการสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้
สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ “OneFence”
Tel. : 081-972-2500
Line : @securitypitch
Email : [email protected]
บทความที่น่าสนใจ