จำเป็นไหม? ที่ต้องให้ “ความยินยอม”

ความยินยอม

การได้รับการรักษาพยาบาลจากบุคลากรทางการแพทย์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับ ทว่าในการรักษา หรือ เข้ารับบริการในสถานพยาบาล อาจต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลประกอบการรักษา เมื่อมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ขึ้น การขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในจุดนี้เองอาจทำให้หลายคนสงสัยว่า หากไม่ให้ ความยินยอม เพื่อนำข้อมูลของตนเองไปใช้ในสถานพยาบาล จะสามารถทำได้หรือไม่ หรือจะส่งผลอย่างไรกับการรักษา Security Pitch มีคำตอบครับ

ทำไม? ผู้เข้ารับบริการต้องให้ “ความยินยอม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการให้ความยินยอมต่อสถานพยาบาลถือเป็นเรื่องสำคัญ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษา เนื่องจากวัตถุประสงค์หนึ่งของการขอความยินยอมให้จัดเก็บ หรือ ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ก็คือการเก็บบันทึกข้อมูลการรักษาหรือข้อมูลสุขภาพ กรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือในการรักษาได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันบางสถานพยาบาลยังอาจระบุถึงวัตถุประสงค์ทางการตลาดไว้ในเอกสารขอความยินยอม 

ด้วยเหตุนี้เองผู้เข้ารับบริการจึงควรทำความเข้าใจ อ่านเนื้อหาให้ถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจให้ความยินยอมในการจัดเก็บ หรือ ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลก่อนทุกครั้ง

ไม่ให้ความยินยอม ยังเข้ารับการรักษาได้ไหม ?

หลายคนยังเข้าใจว่าการไม่ให้ความยินยอมคือการปฏิเสธการเข้ารับการรักษา และอาจทำให้ไม่สามารถรักษาพยาบาลได้ ซึ่งแท้จริงแล้วแม้จะไม่ให้ความยินยอมก็ยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ และสถานพยาบาลเองก็ยังสามารถประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของบุคคลได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อยกเว้นในกฎหมาย PDPA มาตรา 24(2) ที่ว่า “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลสามารถจัดเก็บ รวบรวบข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมก่อน ในกรณีที่ทำเพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคล และสามารถประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของบุคคล หรือ ข้อมูลอ่อนไหวของผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม” โดยมีฐานกฎหมายรองรับ คือ ฐานประโยชน์สำคัญต่อชีวิต (Vital Interest) ซึ่งจะเข้าข่ายฐานกฎหมายนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ผู้เข้ารับการรักษาไม่อยู่ในสภาวะที่ให้ความยินยอมได้ ญาติที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็จะต้องให้ความยินยอมแทน อย่างไรก็ตามผู้เข้ารับการรักษาก็จำเป็นจะต้องให้ความยินยอมในภายหลัง เพื่อเป็นหลักฐานอีกชั้นหนึ่ง

ต้องการยกเลิกความยินยอมในภายหลังได้หรือไม่ ?

ในกรณีที่ผู้เข้ารับการรักษาให้ความยินยอมไปแล้ว และได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ แล้วไม่ประสงค์ให้สถานพยาบาลจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ความยินยอมต่าง ๆ เอาไว้ ผู้เข้ารับการไม่ต้องกังวล เนื่องจากโดยส่วนใหญ่สถานพยายามจะมีระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ โดยมักอยู่ที่ 5 – 10 ปี หากไม่ได้มีการนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในระยะเวลาดังกล่าว สถานพยาบาลสามารถลบประวัติการรักษา หรือ ข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ได้ทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของสถานพยาบาลแต่ละแห่งด้วย

มาถึงตรงนี้ผู้เข้ารับบริการคนไหนที่กังวลเรื่องการให้ความยินยอมในการรักษา น่าจะคลายความกังวลลงได้ และสำหรับท่านใดอยากทราบข้อมูลการจัดเก็บ หรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของสถานพยาบาลที่ตนเองเข้ารับบริการ สามารถสอบถามไปยังหน่วยงาน หรือช่องทางติดต่อ ตามที่ประกาศในนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสถานพยาบาลนั้น ๆ ได้