หากมิจฉาชีพได้ ข้อมูลส่วนบุคคล ของเราไป อาจเสี่ยงถึงขั้นเงินหายหมดบัญชี !

แค่ ข้อมูลส่วนบุคคล รั่วไหลก็แย่แล้ว หากข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพอีก ก็ยิ่งเสี่ยง จนอาจเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่จะป้องกันอย่างไร? ไม่ให้ข้อมูลถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ

ข้อมูลส่วนบุคคล

ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความประมาทเลินเล่อของตัวบุคคล หรือเกิดจากช่องโหว่ของระบบเครือข่ายที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล ทำให้แฮ็กเกอร์ และมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ ดังเช่นเหตุการณ์ล่าสุดที่กลายเป็นกระแสไปทั่วประเทศ เมื่อมีการเปิดเผยว่ามีข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยกว่า 55 ล้านคน ถูกแฮ็กเกอร์ขโมยออกไปขายในดาร์กเว็บ และยังได้มีการข่มขู่ว่าหากไม่ได้เงินสกุลดิจิทัลจากภาครัฐ เป็นค่าไถ่ข้อมูล จะทำการปล่อยข้อมูลทั้งหมดเพื่อเป็นการตอบโต้

อ่านเพิ่มเติม – กระแสสังคมจ่อฟ้อง PDPA เอาผิดหน่วยงานหลังแฮ็กเกอร์ขู่ แฉ ข้อมูลส่วนบุคคล คนไทย 55 ล้านคน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลใจให้กับผู้คนอยู่ไม่น้อย เพราะการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าว ไม่ใช่แค่การถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลที่ควรเป็นความลับมาเปิดเผย แต่ยังเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล อย่าง เบอร์โทรศัพท์ รหัสประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และสำเนาบัตรประชาชน รวมไปถึงข้อมูลที่สามารถใช้ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงใช้ระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลได้ โดยหากตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพก็อาจทำให้เหยื่อถึงขั้นสูญทรัพย์สินเงินทอง หรือถูกนำไปใช้กระทำความผิด  เช่นก่อนหน้านี้ที่เคยมีเหตุการณ์เหยื่อถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เปลี่ยนแปลงการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ในการรับรหัส OTP, การผูกบัญชีเงินฝาก บัตรเครดิต ไปยังเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพ จนถึงทำการโอนย้ายเงินออกไปจนหมด 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย ๆ กรณี อย่างการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในกระบวนการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเมื่อมีการติดต่อไปยังเหยื่อ บรรดามิจฉาชีพก็อาจสวมรอยแจ้งข้อมูลได้ตรงจนเหยื่อหลงเชื่อ ตายใจ และยอมโอนเงินให้ 

นี่ยังไม่นับรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลบางส่วนที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลสุขภาพ หรือความเชื่อทางศาสนา ที่หากหลุดไปก็สามารถส่งผลเสียอย่างมากต่อเจ้าของข้อมูลได้

ทำอย่างไรให้ข้อมูลส่วนบุคคลปลอดภัย ?

แม้จะเป็นไปได้ยากที่เมื่อคุณมอบข้อมูลส่วนบุคคลให้ผู้อื่นแล้ว จะปลอดภัย 100% เพราะหากหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลไม่มีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจนก็มีความเป็นไปได้ที่ข้อมูลส่วนบุคคลจะรั่วไหลออกไปอยู่ดี แต่ด้วยเพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ซึ่งบังคับใช้ทั้งกับหน่วยงาน องค์กร และภาครัฐ โดยมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ครอบคลุมในระดับหนึ่ง ทว่าเจ้าของข้อมูลเองก็ควรต้องระมัดระวังก่อนมอบข้อมูลส่วนบุคคลให้กับผู้อื่น และควรสังเกตว่าผู้ที่เราให้ข้อมูลส่วนบุคคลไปนั้นมีนโยบายความเป็นส่วนตัวอย่างไร และข้อมูลส่วนบุคคลที่จัดเก็บนั้นจะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด มีระยะเวลาในการจัดเก็บนานแค่ไหน และมีการส่งต่อข้อมูลเพื่อนำไปประมวลผลต่อหรือไม่ 

สิ่งเหล่านี้แม้จะดูยุ่งยาก แต่ก็เพื่อความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเอง เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า เมื่อใดที่ข้อมูลส่วนบุคคลจะรั่วไหลออกไปยังสาธารณะ และสร้างความเสียหาย ดังนั้นการระมัดระวัง และตระหนักรู้ถึงอันตรายเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยง และมูลค่าความสูญเสีย 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

Facebook : https://fb.me/OneFence.co
Line ID : @onefence-platform
Email : [email protected]