ระบบรักษาความปลอดภัยยุคใหม่ ควรเดินไปทางไหน

ข้อมูลประชาชนรั่วไหล พนักงานขายข้อมูล คอลเซ็นเตอร์รู้ข้อมูลส่วนตัว หลอกลวงจนสิ้นทรัพย์ เครียดจนคิดสั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเคสเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ในสังคม ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง ไม่เพียงบ่งบอกถึงสถานะความไม่พร้อมของการมีมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่ดี หากปัญหามากมายเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นว่า ระบบการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของหลายองค์กรยังเต็มไปด้วยช่องโหว่ เอื้อต่อการถูกคุกคามทางไซเบอร์ 

ในภูมิทัศน์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การปกป้องทั้งข้อมูลและระบบหลักขององค์กรจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ด้วยมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น…

  • เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว 
  • Open Source Library Adoption คือ การนำชุดซอร์สโค้ดหรือซอฟต์แวร์จากภายนอกมาใช้ เช่นจาก Github 
  • การโจมตีที่ขยายขอบเขตไปยัง Cloud 
  • แอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์เกิดขึ้นมากมาย แต่ไร้ซึ่งการควบคุม 
  • รูปแบบภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนขึ้น

ขณะที่ภัยคุกคามมากขึ้น หากองค์กรส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณที่จำกัด ขาดเครื่องมือรองรับ รวมถึงขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ทำให้เมื่อพบปัญหาแต่กลับแก้ไขไม่ได้ หรือไม่ทันการณ์

งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2023 ระบุว่า องค์กรใช้เวลาเฉลี่ย 88 วันในการอุดช่องโหว่ที่สำคัญ และใช้เวลาถึง 208 วัน อุดช่องโหว่ที่ไม่ถึงขั้นร้ายแรง ซึ่งทำให้ผู้โจมตีมีเวลามากพอที่จะเข้าถึงเครือข่ายองค์กร ในจำนวนนี้หลายกรณียังคงไม่ได้รับการแก้ไข แม้จะผ่านไปเป็นปีแล้วก็ตาม นี่เองทำให้องค์กรมากมายตกเป็นเป้าหมายการโจมตีที่ไม่ซับซ้อน

ตามรายงาน Cost of a Data Breach Report ประจำปี 2023 ของ IBM พบว่า การรั่วไหลของข้อมูลมักถูกค้นพบโดยบุคคลภายนอกมากกว่าบุคคลภายในองค์กร หรือ หน่วยงานนั้น ๆ ถึง 67% ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่องค์กรต้องควบคุมการจัดการช่องโหว่ให้ดียิ่งขึ้น

Risk-Based Vulnerability Management จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอุดช่องโหว่ซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มขององค์กรในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ

1. ประเมินความเสี่ยงและการจัดลำดับความสำคัญ

องค์กรควรทำการประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียด เพื่อระบุช่องโหว่ ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และจัดลำดับความสำคัญตามความรุนแรงของความเสี่ยงและความสำคัญทางธุรกิจ

2. การบูรณาการกับกรอบการจัดการความเสี่ยง

องค์กรควรปรับกระบวนการจัดการช่องโหว่ให้สอดคล้องกับกรอบการจัดการความเสี่ยงที่กว้างขึ้น เช่น NIST Cybersecurity Framework หรือ ISO 27001 เพื่อสร้างความมั่นใจ และเกิดความสอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ในการจัดการความเสี่ยงขององค์กร

3. การใช้ระบบ Automation สำหรับการจัดการประสานงาน

องค์กรควรนำเครื่องมือ Automation เข้ามาใช้สำหรับการจัดการประสานงาน เพื่อทำให้กระบวนการตรวจจับช่องโหว่ การประเมิน และการแก้ไขมีความคล่องตัว ส่งผลให้การตอบสนองเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยี AI มาช่วยสร้างความแตกต่าง

4. ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมของการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินประสิทธิผลของแนวปฏิบัติในการจัดการช่องโหว่อย่างสม่ำเสมอ ระบุพื้นที่ที่ต้องการปรับปรุง รวมถึงนำบทเรียนที่ได้ไปปรับปรุงระบบในองค์กร

ที่มา : SecurityWeek

สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ “OneFence”

Tel. : 061-462-6414, 064-189-9292
Line : @securitypitch
Email : [email protected]

บทความที่น่าสนใจ