Tiktok โดนปรับกว่า 345 ล้านยูโร หลังละเมิดกฏหมายคุ้มครองข้อมูลเด็ก
รู้หรือไม่? แอปพลิเคชัน Tiktok ที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง กำลังประสบกับวิกฤตความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย เพราะแม้จะพยายามวางนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวอย่างรัดกุม แต่ดูเหมือนเรื่องจะไม่จบโดยง่าย เพราะล่าสุดหน่วยงานกำกับดูแลของไอร์แลนด์ หรือ DPC ได้สั่งปรับ Tiktok เป็นเงินมูลค่าสูงกว่า 345 ล้านยูโร ฐานละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลเด็ก ของ GDPR
เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ The Guardian ได้เปิดเผยข่าวล่าสุดเกี่ยวกับ Tiktok ว่า หน่วยงานกำกับดูแลของไอร์แลนด์ได้สั่งปรับแพลตฟอร์มดังกล่าวในฐานฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป เกี่ยวกับการจัดการบัญชีเด็ก รวมถึงความล้มเหลวในการปกป้องเนื้อหาของผู้ใช้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเห็นข้อมูลของผู้เยาว์แบบสาธารณะได้ โดยหน่วยงานเฝ้าระวังได้เปิดเผยว่า ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแอปพลิเคชันนี้ได้มีการละเมิดจีดีพีอาร์ หลายครั้ง โดยเฉพาะสิทธิของผู้เยาว์ โดยการตั้งค่าเริ่มต้นให้เปิดเผยข้อมูลของเยาวชนเป็นสาธารณะ และเปิดให้ผู้ปกครองสามารถจับคู่กับบัญชีเยาวชนที่มีอายุมากกว่า 16 ปี เพื่อให้บุคคลภายนอกส่งข้อความเข้ามาที่บัญชีของเยาวชนได้ โดยไม่ได้คำนึงว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้เยาว์ได้รับความเสี่ยง และละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม Tiktok เองก็ไม่ได้ยอมรับกับคำตัดสินนี้ เพราะทางแอปฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนการตั้งค่าของบัญชีผู้เยาว์ให้การแสดงข้อมูลเป็นแบบส่วนตัวทั้งหมด ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ก่อนที่ DPC ของไอร์แลนด์จะเริ่มทำการสอบสวนเสียอีก และทาง Bytedance เจ้าของแอปฯ ดังกล่าวระบุว่า ได้พยายามรักษาความเป็นส่วนตัว โดยมีทีมงานจำนวนมากที่คอยตรวจสอบ อีกทั้งยังได้มีการวางมาตรการการตรวจสอบอายุ นอกเหนือจากการสอบถามก่อนการสมัครสมาชิกว่ามีอายุมากกว่า 13 ปีหรือไม่
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า นอกเหนือจากการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใหญ่แล้ว กฎหมาย GDPR ยังมุ่งเน้นไปที่การรักษาความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของเด็กเป็นอย่างมาก เห็นได้ทั้งจากเคสนี้ หรือเคสที่ Instagram เคยถูกปรับเป็นเงินจำนวนมากจากกรณีละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก
ขณะที่ในประเทศไทย แม้จะมีการระบุให้ผู้ปกครองที่มีเด็กซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นตัวแทนผู้ปกครองอย่างสมบูรณ์ และเปรียบเสมือนเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเอง มีสิทธิในการตัดสินใจจะให้ความยินยอม หรือให้ข้อมูลส่วนตัวหรือไม่ก็ได้ แต่ก็ยังไม่เห็นหน่วยงานใดออกมาจริงเอาจังกับกฎหมายกรณีที่มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก หรือแม้แต่ละเมิดสิทธิเด็ก อย่างการถ่ายภาพ หรือนำข้อมูลของเด็กมาใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม เพื่อหวังยอดแชร์ ยอดไลก์
ดังนั้นนอกจากการเคารพในความเป็นส่วนตัวของเด็ก ยังควรสร้างการตระหนักรู้ด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เพื่อให้ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กลดลง รวมถึงให้ผู้คนตระหนักว่าความปลอดภัยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความปลอดภัยทางกายภาพ แต่รวมถึงสิทธิเสรีภาพด้วย
สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ “OneFence”
Line : @securitypitch
Email : [email protected]