ระวัง ! เว็บไซต์ถูกแฮ็ก อาจพังไปทั้งองค์กร

เว็บไซต์ถูกแฮ็ก

ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน หรือองค์กร ล้วนแต่มีเว็บไซต์เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ประกอบการทำธุรกิจ หรือแม้แต่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการทำงานในองค์กร แต่เพราะเว็บไซต์องค์กรส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระ ทำให้ เว็บไซต์ถูกแฮ็ก ถูกโจมตีเพื่อขโมยข้อมูล ฝังโค้ดอันตราย รวมถึงแฝงลิงก์เว็บไซต์พนันไว้ เมื่อผู้ใช้งานเผลอคลิก และดาวน์โหลด ไฟล์อันตรายเหล่านี้ก็จะเข้าไปติดตั้งยังอุปกรณ์ปลายทางโดยอัตโนมัติ จากนั้นก็จะไปเข้าขโมยข้อมูลผู้ใช้งาน หรือกระทำการอันมิชอบ

ทั้งนี้หากนับย้อนไป 1 – 2 ปีที่ผ่านมา มีหน่วยงานราชการจำนวนไม่น้อยถูกโจมตีทางไซเบอร์ โดยถูกแฮ็กเว็บไซต์เพื่อหวังผลในด้านต่าง ๆ เช่น เมื่อปลายปี พ.ศ. 2565 ศูนย์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีของตำรวจนครบาล (ศปอส.น.) ได้บุกจับแฮ็กเกอร์ที่กระทำการแฮ็กเว็บไซต์หน่วยงานราชการ กว่า 115 แห่ง ฝังโฆษณาเว็บไซต์พนันออนไลน์ ขณะที่ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งถูกแฮ็กเว็บไซต์และแก้ไขเส้นทางไปยังเว็บไซต์การพนัน 

เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เพียงบ่งบอกถึงความพร้อมด้านการรับมือกับสถานการณ์ทางไซเบอร์ แต่ยังทำลายความเชื่อมั่นต่อองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะการที่เว็บไซต์ หรือ โซเชียลมีเดียขององค์กรถูกแฮ็ก นับเป็นสัญญาณแสดงว่าองค์กรมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย หรือ อาจไม่ได้มีการให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยดีเท่าที่ควร

เว็บไซต์องค์กรถูกแฮ็กได้อย่างไร

โดยทั่วไปแล้วเว็บไซต์ขององค์กรมักถูกแฮ็ก จากสาเหตุดังนี้

1. ระบบรักษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหละหลวม

หลายครั้งที่องค์กรถูกแฮ็ก หรือ ถูกโจมตีทางไซเบอร์ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของคนในองค์กร ไม่ได้มีระบบการป้องกันอุปกรณ์ หรือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีพอ ซึ่งบุคลากรอาจเผลอดาวน์โหลดไฟล์ หรือ คลิกลิงก์อันตรายที่ส่งมากับอีเมลแปลกปลอม และทำให้อุปกรณ์นั้น ๆ ติดมัลแวร์อันตราย จึงนำไปสู่การถูกเจาะเข้าสู่ระบบได้ในที่สุด

2. การเข้าถึงผ่าน Third-Party Access

ปัจจุบันเว็บไซต์หลายแห่งได้มีการนำเอา Third-Party Access เข้ามาใช้ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจระบบง่ายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นดาบสองคม เพราะปลั๊กอิน Third-Party Access ของผู้พัฒนาบางรายไม่ได้มีการอัปเดต จึงทำให้เกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยได้เช่นเดียวกัน

3. ช่องโหว่ของเว็บไซต์สำเร็จรูป

เว็บไซต์จำนวนมากมักหันมาใช้บริการเว็บไซต์แบบสำเร็จรูปกันมากขึ้น เพราะสะดวก และไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดให้ยุ่งยาก ทว่าในความสะดวกก็มีช่องโหว่ เพราะหากผู้ดูแลเว็บไซต์ไม่ได้มีการอัปเดตปลั๊กอิน ส่วนเสริมต่าง ๆ หรือแม้แต่หมั่นตรวจตราความปลอดภัย ก็อาจทำให้ผู้ไม่หวังดีสามารถแฮ็ก และนำเว็บไซต์ไปใช้ในทางที่ผิดได้

4. ผลกระทบจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ของเว็บไซต์ที่ใช้เซิร์ฟเวอร์ร่วมกัน

การใช้เซิร์ฟเวอร์ร่วมกันไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากการเช่าเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้งานร่วมกับผู้อื่นจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า แต่ในทางกลับกัน ค่าใช้จ่ายที่ลดลงอาจเป็นปัญหาให้เว็บไซต์ขององค์กรถูกโจมตีได้ง่าย โดยเฉพาะกับเว็บไซต์ที่ใช้เซิร์ฟเวอร์ร่วมกัน ซึ่งทำให้ผู้คุกคามสามารถกระจายการโจมตีไปยังเว็บไซต์ใกล้เคียงได้ง่ายขึ้น 

5. อีเมลฟิชชิ่ง

อีเมลฟิชชิ่งเป็นภัยคุกคามที่สร้างปัญหาให้กับคนในทุกองค์กร และทุกระดับ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่สามารถป้องกันปัญหานี้ได้ โดยสาเหตุที่ทำให้คนหลงเชื่ออีเมลฟิชชิ่ง เพราะมีการสร้างเนื้อหาให้น่าเชื่อถือ หรือ มีการใช้ลิงก์ที่คล้ายคลึงกับลิงก์จริงขององค์กรต่าง ๆ ทำให้คนหลงเชื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ เผลอให้ข้อมูลสำหรับการเข้าใช้งานบัญชีต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังแฮ็กเกอร์ และใช้งานต่อไป

6. การใช้งานสคริปต์ที่เก่าเกินไป 

สคริปต์ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนา หรือ ควบคุมระบบต่าง ๆ ตั้งแต่หน้าตาของเว็บไซต์ไปจนถึงการจัดเก็บของฐานข้อมูล ทว่าสคริปต์ที่ไม่ได้รับการอัปเดตก็อาจมีช่องโหว่ที่ทำให้แฮ็กเกอร์สามารถเจาะเข้าสู่ระบบได้ไม่ยาก ด้วยเหตุนี้นักพัฒนาจึงมักอัปเดตสคริปต์เป็นประจำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

7. ความอ่อนแอของระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ 

ต้องยอมรับว่าการโจมตีทางไซเบอร์ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เกิดจากการที่องค์กรไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพียงพอ เช่น ไม่มีเจ้าหน้าที่ หรือระบบตรวจจับ และแจ้งเตือนที่เหมาะสม ทำให้เมื่อเกิดการแจ้งเตือนความปลอดภัยทางไซเบอร์ องค์กรก็ไม่สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที หรือกว่าจะรับรู้ได้ถึงความผิดปกติ แฮ็กเกอร์ก็สร้างความเสียหายให้กับเว็บไซต์ ระบบเครือข่าย หรืออุปกรณ์ในองค์กรไปแล้ว 

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เว็บไซต์ถูกแฮ็ก

ความเสียหายจากการถูกแฮ็กเว็บไซต์ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือ ลดความน่าเชื่อถือขององค์กรเท่านั้น แต่ในหน่วยงานบางแห่งที่จะต้องมีการล็อกอินเพื่อเข้าสู่ระบบภายในองค์กรผ่านหน้าเว็บไซต์ สิ่งที่อาจตามมาคือการถูกจารกรรมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญขององค์กร หรือแม้แต่ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ก็อาจถูกขโมย ร้ายแรงที่สุดคือระบบเครือข่ายขององค์กรอาจถูกโจมตีจนเกิดความเสียหายไปด้วย ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาความปลอดภัย จึงควรมีวิธีป้องกัน ดังนี้

  1. หมั่นตรวจสอบเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชัน ให้มีการตั้งค่า Header Content-Security-Policy ที่ถูกต้อง
  2. เพิ่มโค้ด HTTP Header X-Frame-Options ในการตั้งค่าเว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือ แอปพลิเคชัน เพื่อป้องกันการโจมตีแบบ Click Hijack
  3. กำหนดค่าความปลอดภัยให้เหมาะสมกับเซิร์ฟเวอร์ที่สำคัญ เพื่อจำกัดการเข้าถึง Protocol หรือ Service ที่ไม่จำเป็น
  4. อัปเดตเบราว์เซอร์และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ เนื่องจากผู้พัฒนาโปรแกรมจะสามารถเสริมความปลอดภัยเพิ่มเติมได้ เมื่อพบช่องโหว่และปัญหาที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้หากมีระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รัดกุม และสามารถช่วยตรวจจับความผิดปกติ หรือ หาช่องโหว่ของเว็บไซต์ รวมไปถึงแนะนำวิธีการปิดช่องโหว่ได้ ก็จะช่วยร่นระยะเวลาในการทำงาน เสริมเกราะป้องกันให้กับระบบไซเบอร์ขององค์กรได้ และลดความเสี่ยง เว็บไซต์ถูกแฮ็ก ลงได้

OneFence แพลตฟอร์มบริหารจัดการด้านความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ ที่จะช่วยให้คุณสามารถบริหารจัดการด้านความปลอดภัยได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ ความปลอดภัยทางกายภาพ และความความเป็นส่วนตัว ร่นระยะเวลา ลดการทำงานซ้ำซ้อน เพื่อความมั่นคง และยั่งยืนขององค์กร 

เชื่อมั่นในความปลอดภัย เชื่อมั่นใน OneFence